Yosemite มิติใหม่จาก OSX

overview_design_hero

Yosemite คือ อะไร เรามาทำความรู้จักและความเปลี่ยนแปลงของมันกันเลยครับ

ชื่อของ Yosemite (อ่านว่า โย-ซิ-มิ-ตี้) มาจากอุทยานแห่งชาติ Yosemite ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยภาพพื้นหลังที่ถูกตั้งเป็นค่าเริ่มต้นของ OS X Yosemite คือภาพหินที่ชื่อว่า El Capitan ในอุทยานแห่งชาติ Yosemite

Design

หนึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้คือดีไซน์ เพราะ OS X Yosemite ดีไซน์ใหม่หมดจดจริงๆ เป็นแนว flat ลดความยุ่งยากและลวดลาย เหมือนตอนที่เปลี่ยนจาก iOS 6 ไปเป็น iOS 7 โดยดีไซน์แบบนี้ Apple เริ่มใช้ในบางส่วนของ OS X Mavericks แล้ว ในส่วนไอคอนต่างๆ ใน Yosemite ออกมาในแนวเดียวกับ iOS ที่เป็นสีสันสดใส ออกแนวการ์ตูน ลดมิติลง บางตัวผมคิดว่าสวยกว่าแบบเก่า แต่บางตัวก็ดูแบบเก่าสวยกว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของความชอบล้วนๆ

icon

Font

OS X Yosemite เลือกใช้ฟ้อนต์ Helvetica Neue ต่างกับ OS X Mavericks ที่ใช้ฟ้อนต์ Lucida Grande แต่จากที่ทดลองใช้มาสักพักผมยังไม่พบปัญหาการอ่าน ถึงแม้ช่องว่างระหว่างตัวอักษรของ Helvetica Neue จะน้อยกว่า Lucida Grande ก็ตาม เพราะไม่ได้เลือกใช้ฟ้อนต์บางเหมือน iOS 7 ช่วงแรกๆ แต่บางจุดของ OS X Yosemite มีตัวอักษรที่เล็กลงบ้าง ซึ่งอาจมีปัญหากับคนที่สายตาไม่ดีได้

สัญญาฯจราจรและปุ่ม Full screen

สัญญาณจราจรถูกเปลี่ยนเป็นสีเรียบๆ โดยปุ่มสีเขียวจะใช้เป็นปุ่ม full-screen แทนปุ่มเดิมที่อยู่มุมบนขวา แต่ถ้าแอพใดไม่รองรับ full-screen หรือยังไม่ได้อัพเดตให้รองรับ Yosemite ปุ่มสีเขียวก็ยังเป็น + เหมือนเดิมแอพที่รองรับการใช้ปุ่มสีเขียวเป็น full-screen ถ้าจะใช้ฟังก์ชันของปุ่ม + เดิมให้ดับเบิ้ลคลิกตรงส่วนบนของหน้าต่างแทน

osx_design_controls_2x

Gaussian Blur

เอฟเฟคที่ Apple เลือกมาใช้ใน OS X Yosemite คือ Gaussian Blur เหมือน iOS 7 เป็นการเบลอฉากหลังอย่างสวยงาม โดย Apple ใช้เอฟเฟคนี้ทั้งเมนู, Dock, Toolbar ข้อเสียคือกินพลังงานประมวลผลอยู่บ้าง สำหรับคนไม่ชอบ Apple ก็มีตัวเลือกให้ปิดเอเฟคนี้ใน Accessibility ด้วย

yosemite-gaussian-blur-2-2

Dock

พูดถึง OS X คงจะไม่พูดถึง Dock ที่เป็นของคู่กันมาช้านานไม่ได้ คราวนี้ Apple ปรับเปลี่ยน Dock บน OS X Yosemite ใหม่ เป็นแนวสองมิติและใช้เอฟเฟค Gaussian Blur ซึ่งตรงนี้แล้วแต่ใครจะชอบ จากการทดลองใช้มาสักพักผมไม่เคยมีปัญหากับดีไซน์นี้นะ ดูๆ แล้วก็เหมือน Dock แบบดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ Mac OS X รุ่นแรกๆ เลยทีเดียว

dock

Spotlight

Spotlight ถูกปรับปรุงครั้งใหญ่ใน Yosemite โดย Apple ได้ย้าย Spotlight มาอยู่กลางจอ ขยายตัวอักษรให้ใหญ่กว่าเดิมมาก ทำให้มองได้สบายตา ฟีเจอร์ของ Spotlight ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน Yosemite ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้นข้อมูลออนไลน์ เช่น แปลงค่าเงิน, ดูรอบฉายหนัง, ค้นข้อมูลใน Wikipedia, ค้นหาแอพใน App Store

spotlight-yosemite

Notification Center

ในส่วน Notification Center ได้เพิ่ม Today เข้ามาเหมือน iOS 8 และมี Widget ซึ่งเราสามารถเพิ่ม-ลดได้ตามความต้องการ ในตอนนี้จะยังมีเฉพาะ Widget ของ Apple แต่ในอนาคตจะมี Widget จากแอพอื่นๆ เพิ่มตามมาแน่นอน

yosemite-notification-center

Screen Sharing

หนึ่งฟีเจอร์ที่ห่างหายจาก OS X แบบที่ Apple ไม่ได้พูดถึงเสียนานคือ Screen Sharing คือการแบ่งปันหน้าจอ Mac ให้เพื่อนดู ช่วงที่เปลี่ยนจาก iChat เป็น Messages นั้น Apple กลับไม่ได้นำความสามารถนี้มาให้ใช้ได้แบบสบายๆ (ถ้าจะใช้ต้องไปขุดกันเอาเอง ซึ่งใช้ยากมาก)

ส่วนความลื่นของ Screen Sharing นั้นเท่าที่ผมลองใช้ดูก็ลื่นพอสมควร (ไม่ถึงกับลื่นมาก) ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเร็วเน็ตของผู้ใช้ด้วยนะครับ

วิธีการใช้ Screen Sharing ก็คือเปิด Messages ใน Mac ของตัวเอง กดเพื่อนที่ต้องการใช้ Screen Sharing ด้านซ้าย (หรือจะเปิดบทสนทนาใหม่เลยก็ได้ครับ) หลังจากนั้นให้กด Detail ที่มุมบนขวาของหน้าต่าง กดปุ่มสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองอัน จะมีตัวเลือกให้ขอดูหน้าจอของตนเอง หรือจะให้คนอื่นเข้าดูหน้าจอของตนเอง ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ฝ่ายที่ดูหน้าจอเข้าควบคุมคอมพิวเตอร์ของเราหรือไม่ หลังจากนั้นคำขอจะถูกส่ง ต้องรอให้อีกฝ่ายตอบรับคำขอก่อนถึงจะเริ่มการ Screen Sharing ได้

yosemite-imessage-screen-sharing

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนสุดท้ายจะเป็นการเพิ่มเติมเล็กน้อยสำหรับที่เราควรรู้เกี่ยวกับ OS X Yosemite แต่ Apple ไม่ได้บอกหรือไม่ได้เน้นมากนัก

เสียฃแปะๆหายไปเวลาเพิ่ม-ลด เสียง

ใครที่ใช้ OS X มานานมักจะคุ้นเคยกับเสียงแป๊ะๆๆๆๆๆ เวลาเพิ่มเสียงหรือลดเสียง ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่ง แต่ OS X Yosemite ปิดไว้เป็นค่าเริ่มต้น หากใครไม่สนใจอะไรก็อาจข้ามจุดนี้ไปได้ แต่ถ้าใครรู้สึกขาดๆ หายๆ สามารถเปิดได้ที่ System Preferences -> Sounds -> Play feedback when volume is changed

Sukhumvit set font

ข่าวดีสำหรับภาษาไทยคือ รอบนี้ Apple ใส่ฟ้อนต์ Sukhumvit Set มาให้ด้วย ซึ่งเป็นฟ้อนต์ที่ทุกคนก็น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะเคยเริ่มใช้ใน iOS 7 แต่ก็ยกเลิกไปใน iOS 7.1 แม้รอบนี้ Apple ไม่ได้เปิดใช้ฟ้อนต์ Sukhumvit เป็นค่าเริ่มต้น แต่ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้อยากใช้ฟ้อนต์นี้

เงื่อนไขการใช้งานฟ้อนต์ Sukhumvit Set คือ Apple ซื้อให้เราๆ ท่านๆ ใช้ทำงานอะไรก็ได้ เช่น พิมพ์งาน, โปสเตอร์, ตัวอักษรในไฟล์ภาพ ฯลฯ โดยผลงานต้องถูกสร้างบน OS X Yosemite เท่านั้น หรือถ้าไม่ได้ใช้ OS X Yosemite แต่คุณซื้อฟ้อนต์มาถูกลิขสิทธิ์ก็ใช้งานได้เช่นกัน แต่ฟ้อนต์ต้องไม่ถูกคัดลอกออกไป (เช่น ใส่ในไฟล์ PDF, ใช้กับข้อความที่เป็นตัวอักษรบน Server ที่ต้องแคชไฟล์ฟ้อนต์ไว้, คัดลอกไปใส่เครื่องอื่น) หากบริษัทคัดสรรดีมาก เจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจพบการใช้ฟ้อนต์ผิดเงื่อนไขสามารถฟ้องร้องได้ – Siampod

Dark mode

Apple จัดให้คนชอบธีมดำด้วย Dark Mode ที่ดำทั้ง Menu Bar, Dock, Spotlight (แต่หน้าต่างยังสีเดิม) ซึ่งข้อนี้ดูเป็นทางเลือกมากกว่า สำหรับคนที่ไม่ชอบก็จัดธีมสีขาวเหมือนเดิมต่อไปวิธีเปิด Dark Mode ให้ไปที่ System Preferences -> General -> Use dark menu bar and Dock.

Dic ภาษาไทย

Apple เพิ่ม Dictation ภาษาไทยให้ OS X Yosemite เหมือนบน iOS 8 เป็นแบบ Live Dictation คือเมื่อเราพูดแล้วข้อความจะปรากฏบนหน้าจอในเวลาไม่นานนัก (ถ้าไม่ใช่ Live ต้องรอให้พูดจบก่อนข้อความจึงปรากฏ) ซึ่งจากที่ทดสอบมาก็นับว่าแม่นมากถ้าไม่เจอคำแปลกๆ พิสดาร ลองดู iOS 8 เป็นตัวอย่างครับ วิธีการทำงานไม่ต่างกัน

วิธีเปิด Dictation ภาษาไทยบน OS X ให้ไปที่ Settings -> Dictation & Speech ติ๊กตรง Use Enhanced Dictation หลังจากนั้นเปิดช่อง Language กดแท็บ Customize แล้วติ๊กถูกภาษาไทย โดยจะต้องดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่พอสมควรก่อนเริ่มต้นใช้งาน โดยวิธีใช้งาน เพียงกดปุ่ม fn สองครั้ง ก็จะขึ้นรูปไมค์ ให้อยู่ห่างจากไมโครโฟนของเครื่องในระยะหนึ่งแล้วจึงพูด พอพูดเสร็จให้กดปุ่ม fn รูปไมค์ก็จะหายไป

 

ขอบคุณขอมูลและรูปภาพจาก Mac thai ด้วยครับ

Dumrongchai Cheywut
at GlurGeek.Com
ทีมวิจัย และ พัฒนา Mobile print ทีมแรก และ ทีมเดียวใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Leave a Reply

© 2022 GlurGeek.Com